“อบจ.นครราชสีมา” ประชุมติดตามการก่อสร้างทางรถไฟรางคู่ กับการรถไฟแห่งประเทศไทย ช่วง ต.บ้านใหม่ อ.เมือง

วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 เวลา 10.30 น.ที่ห้องประชุมรวงผึ้ง องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครราชสีมา (นม.)

นายซ้าย ผลกระโทก สมาชิกสภา อบจ.นม.ในฐานะประธานกรรมการคมนาคมและขนส่งประจำ อบจ.นม. นายสรรชัย กาญจนวัฒนา ส.อบจ.นม. อ.เมือง เขต 8 ในฐานะกรรมการและเลขานุการ พร้อมด้วยนายรักชาติ กิริวัฒนศักดิ์ ประธานสภา อบจ.นม. นายประพจน์ ธรรมประทีป ส.อบจ. อ.เมือง เขต 4 นายธีรวีร์ มิตรสูงเนิน ส.อบจ. อ.เมือง เขต 5 นางมะลิวัลย์ บางนิ่มน้อย นายกเทศมนตรีตำบล (ทต.) บ้านใหม่ อ.เมือง นายสิรกิจ วาปีธรรม ปลัด ทต.บ้านใหม่ นายอนันต์ ละอองแก้วสุข ประธานกลุ่มพัฒนาชุมชนบ้านใหม่ 2020 นายพัชกฤต ศุภลักษณ์ เลขากลุ่มพัฒนาชุมชนตำบลบ้านใหม่ 2020 และมีผู้เข้าร่วมประชุม 25 คน ผ่านเครือข่าย (Web Conference) โปรแกรม ZOOM กับผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในระเบียบวาระการติดตามการก่อสร้างรถไฟทางคู่ตอนมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ช่วงเส้นทางผ่านเขต ต.บ้านใหม่ ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร ซึ่งเดิมเป็นรูปแบบทางรถไฟระดับพื้นดินผ่านจุดตัดข้ามทางรถไฟ 5 จุด กำหนดเป็นสะพานเกือกม้า ความสูง 10 เมตร ความยาว 1 กิโลเมตรและอุโมงค์ทางลอด ซึ่งส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนด้านคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม

นายพัชกฤต ศุภลักษณ์ เลขากลุ่มฯแสดงความเห็นว่า ต.บ้านใหม่ เป็นชุมชนขนาดใหญ่ 12 หมู่บ้านประชากร 30,000 กว่าคน โครงการบ้านจัดสรร 15 แห่ง สถานศึกษาทุกระดับ 9 แห่ง และที่ตั้งหน่วยงานราชการขนาดใหญ่ ด้านทิศใต้เป็นทางรถไฟเชื่อมต่อถนนมิตรภาพและเขตเทศบาลนคร (ทน.) นครราชสีมา รูปแบบเดิมของรถไฟทางคู่ไม่ตอบโจทย์ความสะดวก ความปลอดภัย กรณีปิดจุดตัดข้ามทางรถไฟโดยสร้างสะพานเกือกม้าและอุโมงค์ทางลอดเสมือนแบ่งแยกชาวบ้านออกจากกัน ส่งผลให้การสัญจรลำบาก รวมทั้ง หากเกิดเหตุเพลิงไหม้รถดับเพลิงต้องเสียเวลาระงับเหตุร้าย ก่อนหน้านี้ชาวบ้านได้เคลื่อนไหว ทางรฟท.จึงปรับรูปแบบรถไฟทางคู่ช่วงผ่านเมืองเป็นยกระดับ ทั้งนี้ชาว ต.บ้านใหม่ เคยได้ยื่นข้อเรียกร้องแต่ไม่ได้รับการทบทวนพิจารณาดูเหมือนเรื่องจะเงียบไป “เราต้องการให้ปรับรูปแบบเป็นทางรถไฟยกระดับ จากสถานีภูเขาลาดถึงใต้สะพานทางแยกต่างระดับบายพาสเชื่อมต่อสะพานโรงแรมสีมาธานีก่อนเข้าสู่สถานีนครราชสีมา เพื่อให้การสัญจรสะดวกและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมในอนาคต” เลขากลุ่มฯ กล่าว

ด้าน นายมานะ โรจนสาโรจน์ วิศวกร โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ชี้แจ้งว่าสถานะของจุดตัดข้ามทางรถไฟได้ปรับปรุงรูปแบบดังนี้ 1.หมู่บ้านกรุงไทย 2 เป็นสะพานเกือกม้าสูง 10 เมตร ความยาว 1 กิโลเมตร 2.สถานีภูเขาลาด อุโมงค์ทางลอดกว้าง 10 เมตร สูง 2.50 เมตร 3.หมู่บ้านบุรีสีมา อุโมงค์ทางลอดกว้าง 10 เมตร สูง 3 เมตร และ 4.เสมาเพลส-มุขมนตรีซอย 23 อุโมงค์ทางลอดกว้าง 25 เมตร สูง 4.5 เมตร ส่วนการรื้อถอนสถานีรถไฟสูงเนิน-กุดจิก-โคกกรวด กำหนดช่วงเดือนสิงหาคม หากต้องการอนุรักษ์ให้ขออนุญาตผู้ว่า รฟท. “ส่วนรูปแบบรถไฟไทย-จีน หรือรถไฟความเร็วสูงเป็นทางต่างระดับหรือสะพานความสูง 25 เมตร นั้นหากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย รฟท.จะลงพื้นที่ชี้แจงสร้างการรับรู้ทำความเข้าและเปิดรับฟังการทบทวน พิจารณารูปแบบตามความเหมาะสม เพื่อลดผลกระทบให้น้อยที่สุด” นายมานะ กล่าว อย่างไรก็ตาม หากมีเรื่องเร่งด้วยสามารถส่งเอกสารมาที่ สนง.ควบคุมโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน (ตรงข้ามสถานีรถไฟสูงเนิน) ต.สูงเนิน อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา 3000

ข่าวประจำวันอบจ.นครราชสีมา ประชุมติดตาม การก่อสร้างทางรถไฟรางคู่ กับการรถไฟแห่งประเทศไทย ช่วง ต.บ้านใหม่ อ.เมือง จ.นครราชสีมา