“ลองโควิดซินโดรม” (Long Covid Syndrome) โรคต่อเนื่อง “หลังหายป่วย”โควิด-19 / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

นับเป็นข่าวดีที่รายงานตัวเลขของจำนวนผู้ป่วยลดลง จำนวนผู้เสียชีวิตลดลง “แม้จะไม่ได้เป็นตัวเลขที่แท้จริงทั้งหมด” เพราะมีคนจำนวนมากตัดสินใจที่จะรักษาตัวเองอยู่ที่บ้าน และใช้ยาฟ้าทะลายโจรซึ่งมีเพียงพอและหาซื้อได้ไม่ยากแล้ว และยิ่งไปกว่านั้นประชาชนได้ส่งต่อข้อมูลในการรับประทานอาหาร ผลิตภัณฑ์เสริมอาการ การออกกำลังกาย การสูดดมรมยาสมุนไพร ได้ทำให้ประชาชนเรียนรู้ที่จะรับมือกับโรคนี้ได้ดีขึ้น
ซึ่งอาจไม่ได้แปลว่าโรคนี้ได้กำลังลดการระบาดลงแล้วจริงๆก็ได้
กลุ่มผู้สูงวัย และกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น ผู้ป่วยโรคปอด และโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด, ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง, ผู้ป่วยโรคไต, ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง, ผู้ป่วยโรคมะเร็งทุกชนิด, ผู้ป่วยโรคเบาหวาน,และโรคอ้วน เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงและมีอัตราการเสียชีวิตสูงที่สุด
กลุ่มผู้สูงวัยถือได้ว่าเป็นกลุ่มคนที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงที่สุด ส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นเพราะเข้าสู่วัยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันเสื่อมถอย ในขณะที่วัคซีนที่ใช้ในผู้สูงวัยนั้น นอกจากจะขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีนแล้ว วัคซีนส่วนใหญ่ก็ได้ถูกนำมาใช้ทดสอบเฉพาะผู้สูงวัยที่แข็งแรงเท่านั้น แต่ถึงกระนั้นภูมิคุ้มกันก็ยังจะขึ้นด้วยวัคซีนน้อยกว่าคนที่อายุน้อยกว่า
ส่วนการฉีดวัคซีนผู้สูงวัยที่มักต้องมีโรคต่างๆอยู่แล้วอยู่ในระหว่างการรวบรวมข้อมูลของการใช้จริงๆทั่วโลก โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่มีโรคเรื้อรังหรืออ่อนแออยู่นั้นไม่มีความชัดเจนว่าจะส่งผลข้างเคียงหรือผลกระทบต่อมาอย่างไร นอกจากการรณรงค์ให้ฉีดเพียงอย่างเดียวเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตเมื่อติดเชื้อ ดังนั้น
กลุ่มผู้สูงวัยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการทดลองที่ยังต้องติดตามผลต่อไป [1]
การถอดบทเรียนจากกลุ่มประชากรผู้สูงวัยและเบาหวานข้างต้นที่มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์นั้น เราอาจจะต้องพิจารณาอะไรไปมากกว่าวัคซีน ฟ้าทะลายโจร หรือยาอื่นๆได้แล้วหรือไม่ นั่นก็คือการใช้ชีวิตที่เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้ดีขึ้นกว่าเดิม
เริ่มจากงดหวาน แป้งขัดขาว[2] งดของผัดทอดกรอบๆด้วยไขมันไม่อิ่มตัวไลโนเลอิกสูง (น้ำมันถั่วเหลือง, น้ำมันข้าวโพด, น้ำมันดอกทานตะวัน, น้ำมันรำข้าว)[3] งดสูบบุหรี่[4], งดดื่มแอลกอฮอล์[5] เพื่อลดภาวะการอักเสบของหลอดเลือดให้น้อยลงที่สุดเท่าที่จะทำให้ได้
เราอาจจะต้องมาสนใจการกินอาหารจาก “พืชผัก” ที่มี “กากใย”มากขึ้น กินอาหารสดมากขึ้น กินผลไม้รสเปรี้ยว ธัญพืช และเห็ดมากขึ้น เพื่อให้ได้วิตามินและแร่ธาตุที่หลากหลายในการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง อันได้แก่วิตามินซี วิตามินบี ซิงค์ ธาตุเหล็ก และเซเรเนียม[6]
รวมถึงการให้ร่างกายรับพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อเสริมสร้างวิตามินดีให้มากขึ้นอันจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันให้มีความแข็งแรงมากขึ้น[6] รวมถึงไขมันที่มีโอเมก้า 3 (เช่นน้ำมันปลา, น้ำมันแฟลกซ์, น้ำมันงาขี้ม้อน) ที่ทำให้เลือดเหลวตัวลง ลดการอักเสบในหลอดเลือดก็ยังสามารถมีส่วนช่วยต่อระบบภูมิคุ้มกันเช่นกัน และหากเป็นไปได้ก็ควรเสริมด้วยแบคทีเรียที่ดีที่ได้จากโยเกิร์ตก็ยังมีส่วนสำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกันด้วย[6]
นอกจากนั้นการออกกำลังกายทั้งรูปแบบการใช้ออกซิเจนหรือแอโรบิค หรือการใช้แรงต้านวันละประมาณ 30-40 นาทีเป็นประจำทุกวัน จะมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในผู้สูงวัยได้และมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นจึงไม่ควรปล่อยให้ผู้สูงวัยนอนหรือนั่งอยู่กับที่นานโดยไม่ได้ออกกำลังเคลื่อนไหว และผู้สูงวัยที่ยังเดินได้และอยากลุกเดินตลอดเวลาก็อาจจะเป็นสัญญาณที่ดีกว่าการอยู่นิ่งเฉยๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับแสงแดดให้มากในระหว่างการออกกำลังกาย ก็จะเป็นหนทางในการเพิ่มวิตามินดี เพราะการขาดวิตามินดีมีความสัมพันธ์ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังในผู้สูงวัยด้วย [7]
การรับประทานอาหารกลุ่มพืชผักหลากสี (ไม่หวาน) ที่มีกากใยไฟเบอร์สูงนอกจากจะช่วยเป็นอาหารเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันในระบบทางเดินอาหารแล้ว หากเป็นผักสลัดสด หรือผักปั่นสดโดยไม่แยกกากก็จะทำให้ได้รับวิตามินที่หลากหลาย โดยเฉพาะวิตามินซีที่จะเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันที่สำคัญเช่นกัน
อีกส่วนหนึ่งสำหรับผู้สูงวัยที่เคลื่อนไหวน้อย หรือเมื่อภูมิคุ้มกันตกแล้วเจ็บป่วยก็ไม่อยากจะรับประทานอาหารอะไรเลย ในขณะที่ลูกหลานและคนใกล้ชิดมักจะคะยั้นคะยอให้รับประทานมาก จะต้องตระหนักว่าการควบคุมปริมาณพลังงานแคลอรี่ในอาหารให้น้อยลงเท่าไหร่ในภาวะที่เคลื่อนไหวน้อย ก็กลับจะช่วยทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานดีขึ้นเท่านั้น การควบคุมปริมาณพลังงานอาหารยังจะช่วยในเรื่องของภาวะการอักเสบมากเกินไปได้ด้วย [8]-[10]
แต่สำหรับการแพทย์แผนไทยและอายุรเวทอินเดียแล้วถือว่าคนสูงวัยเป็นกลุ่มที่ธาตุไฟหย่อนและมักจะเกิดโรคเกี่ยวข้องกับระบบธาตุลม อาหารส่วนใหญ่จึงควรมีเครื่องเทศที่เผ็ดร้อนเพื่อบรรเทาความผิดปกติของธาตุไฟและธาตุลมให้ลดน้อยลง ซึ่งในงานวิจัยยุคหลังพบว่าอาหารรสเผ็ดร้อนเหล่านี้ (โดยเฉพาะอาหารไทยและอินเดีย) จะช่วยลดอนุมูลอิสระในร่างกายให้ลดน้อยลง[11]
ในขณะที่มีตำรับยาสมุนไพรที่ออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงๆ เช่น ตรีผลา (สมอไทย สมอพิเภก มะขามป้อม)ซึ่งนอกจากจะสามารถต้านอนุมูลอิสระได้ดีกว่าเครื่องเทศและวิตามินทั่วไปแล้ว[11] ยังสามารถช่วยลดการอักเสบได้อีกด้วย[12]
โดยตามสถิติแล้วผู้ป่วยโรคโควิด-19 จะมีอาการน้อยถึงปานกลางประมาณร้อยละ 80 และกลุ่มคนเหล่านี้จะมีโอกาสที่โรคจะดำเนินไปจนอาการหนักประมาณร้อยละ 5[13] และในกลุ่มที่อาการน้อยโดยส่วนใหญ่จะมีอาการดีขึ้นภายใน 7-10 วัน และหากมีอาการหนักหรือวิกฤติก็จะใช้เวลาในการดีขึ้นประมาณ 3-6 สัปดาห์[14]
อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยโรคโควิด-19 สามารถที่จะมีชีวิตรอดได้แล้ว ก็อาจจะเกิดปัญหาอีกประการหนึ่งคือโรคที่ยังเกิดต่อเนื่องหลังจากหายป่วยโรคโควิด-19 ทำให้เหนื่อยง่ายอ่อนแอและไม่มีสภาพแข็งแรงเหมือนเดิม ที่กำลังจะเป็นปัญหามากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่แม้จะตรวจไม่พบเชื้อแล้ว แต่กลับมีอาการต่อเนื่องนานเป็นสัปดาห์หรือแม้อาจจะถึงหลายๆเดือนด้วยซ้ำไป เรียกว่าโรค “Long COVID Syndrom” [15]
ภาวะดังกล่าวอาจะเป็นผลมาจากภาวะการอักเสบ หรือภาวะเจ็บป่วยของโรคโควิด-19 หรืออาจจะมาจากกระบวนการรักษาหลายอย่างที่ทำให้ร่างกายได้รับความบอบช้ำ หรืออาจจะมาจากสภาพร่างกายของคนๆนั้นเอง [15]
แต่อาการที่มักจะเกิดขึ้นกับอาการต่อเนื่องหลังตรวจไม่พบเชื้อแล้ว ได้แก่
กลุ่มอาการแรก ได้แก่ภาวะอ่อนล้า ปวดศีรษะ มีปัญหาเรื่องทางเดินหายใจส่วนบน (หายใจสั้น เจ็บคอ ไอ และสูญเสียกลิ่น)
และกลุ่มอาการที่สอง ได้แก่ภาวะอาการจากหลายระบบ เช่น เป็นไข้ต่อเนื่อง และภาวะอาการเกี่ยวกับทางเดินอาหาร โดยอาการเหล่านี้จะพบได้ประมาณ 3-4 สัปดาห์นับตั้งแต่เร่ิมป่วยสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเฉียบพลัน [16]
อาการอ่อนเพลียอ่อนล้าคือปัญหาที่พบได้บ่อย โดยมีการศึกษาพบว่าอาจจะแสดงอาการประมาณ 10 สัปดาห์หลังการติดเชื้อ และมากกว่าร้อยละ 50 จะประสบปัญหาในเรื่องจากภาวะความอ่อนล้าโดยไม่ได้มีความสัมพันธ์กับความรุนแรงหรือภาวะการอักเสบในช่วงการป่วยโรคโควิด-19[17]
โดยเฉพาะหากเป็นผู้ป่วยเพศหญิงที่มีภาวะอ่อนล้าหลังหายป่วยโรคโควิด-19 แล้วอาจมีภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลร่วมด้วย[17]
มีรายงานชิ้นหนึ่งในอิตาลีพบว่าร้อยละ 87 ของผู้ป่วยที่หายป่วยและกลับบ้านแล้วมีอย่างน้อย 1 อาการที่ยังคงอยู่แม้ผ่านไปถึง 60 วันแล้วก็ตาม[18] โดยในจำนวนนี้จะมีร้อยละ 32 จะมี 2 อาการร่วมด้วย ในขณะที่มีมากกว่า 3 อาการขึ้นไปมีมากถึงร้อยละ 55 อย่างไรก็ตามในกลุ่มเหล่านี่จะไม่ได้มีไข้หรือภาวะป่วยรุนแรงเฉียบพลัน[19]
สำหรับอาการ “ป่วยต่อเนื่อง”หลังตรวจไม่พบเชื้อแล้ว ได้แก่อาการอ่อนล้าร้อยละ 53.1, คุณภาพชีวิตแย่ลงร้อยละ 44.1, หายใจลำบากร้อยละ 43.1, ปวดตามข้อร้อยละ 27.3, เจ็บหน้าอกร้อยละ 21.7, นอกจากนั้นยังสามารถพบการรายงานอาการอื่นๆ เช่น ไอ, ผื่นขึ้น, ใจสั่น, ปวดศีรษะ, ท้องเสีย, และรวมถึงความรู้สึกเจ็บเหมือนโดยเข็มทิ่ม เป็นต้น [19]
อาการข้างต้นนี้เองยังพบรายงานของผู้ป่วยที่ไม่สามารถกลับมาใช้กิจกรรมได้ปกติเหมือนเดิม, และยังมีปัญหาสุขภาพจิตด้วย ได้แก่ ความวิตกกังวล โรคซึมเศร้า ภาวะป่วยทางจิตหลังต้องเผชิญกับเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจหรือภัยร้ายรุนแรง (Post-trumatic stress disorder) นอกจากนั้นยังผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วยโควิด-19 ที่ออกจากโรงพยาบาลและกลับบ้านแล้วยังมีภาวะหายใจไม่สะดวกหรืออ่อนเพลียได้นานถึง 3 เดือน[19]
ผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อแล้วโควิด-19 ประมาณร้อยละ 35 อาจไม่สามารถกลับมาทำงานเหมือนเดิมในระยะเวาลประมาณ 14-21 วัน[20] ซึ่งสภาพดังกล่าวนี้ยิ่งอายุมากขึ้นยิ่งต้องใช้เวลานานขึ้นกว่ากลับมาทำงานเหมือนเดิม เช่น อายุ 18-34 ปีจะไม่สามารถกลับมาทำงานได้ในช่วงเวลา 14-21 วันประมาณร้อยละ 26 แต่ถ้ามีอายุมากขึ้นระหว่าง 35-49 ปี จะมีสัดส่วนมากขึ้นเป็นร้อยละ 32 และถ้าอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ก็จะยิ่งมีสัดส่วนมากขึ้นถึงร้อยละ 47 [20]
ในบรรดากลุ่มคนที่ไม่สามารถกลับมาทำงานได้เหมือนเดิมในระยะเวลา 14-21 วัน ร้อยละ 28 จะเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีโรคร่วมหรือมีเพียงโรคเดียวที่ร่วมอยู่, ร้อยละ 46 จะมี 2 โรคร่วมอยู่ และถ้ามีโรคร่วม 3 หรือมากกว่านั้นจะมีอัตราการไม่สามารถกลับมาทำงานได้มากถึงร้อยละ 57[20]
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่รอดชีวิตมาได้แต่ “อ้วน “ หรือดัชนีมวลกาย (BMI)มากกว่าร้อยละ 30) และผู้ป่วยจิตเวช (วิตกกังวล, ซึมเศร้า, ภาวะป่วยทางจิตหลังต้องเผชิญกับเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจหรือภัยร้ายรุนแรง) จะมีภาวะที่ไม่สามารถกลับมาทำงานในระยะเวลา 14-21 วันเพิ่มมากขึ้นเป็น 2 เท่าตัวหลังจากพบว่าติดเชื้อ เทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้มีภาวะดังกล่าวข้างต้น [20]
จะเห็นได้ว่าอาการป่วย หลังหายป่วยโควิด-19 แล้ว ยังคงหลงเหลือซากความเสียหายของอวัยวะร่างกายและจิตใจ และทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนผู้เจ็บป่วยจำนวนหนึ่ง “ไม่เหมือนเดิม” และจำเป็นจะต้องได้รับการ “เยียวยา” และ “ฟื้นฟู” ด้วยการบูรณาการองค์ความรู้จากธรรมชาติบำบัดจนถึงงานวิจัยยุคใหม่
วิชา “ธรรมานามัย” ของการแพทย์แผนไทยประยุกต์จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องนำไปประยุกต์สู่ประชาชนในการฟื้นฟูสุขภาพของความเสียหายที่เกิดขึ้น ในขณะเดียวกันการฟื้นฟูปอด หลอดเลือด หัวใจ ระบบประสาท ด้วยอาหารและตำรับยาสมุนไพรที่มีเบาะแสจากงานวิจัยจำนวนมากในขณะนี้ ตลอดจนการบำบัดทางจิต น่าจะเป็นทางออกในการเยียวยาและฟื้นฟูได้ในขณะนี้ และไม่มีสูตรสำเร็จสำหรับคนทุกคน เพราะอาการของผู้ป่วยแต่ละคนที่หลงเหลือหลังป่วยโควิด-19 นี้ไม่เหมือนกัน
ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต
อ้างอิง
[1] Roy L Saiza, et al,Efficacy and safety of COVID-19 vaccines in older people,Age and Ageing, Volume 50, Issue 2, March 2021, Pages 279–283, https://doi.org/10.1093/ageing/afaa274
[2] Soldavini J., Andrew H., Berner M. Characteristics associated with changes in food security status among college students during the COVID-19 pandemic. Transl. Behav. Med. 2021;11:295–304. doi: 10.1093/tbm/ibaa110.
[3] Aseem Malhotra, et al., Saturated fat does not clog the arteries: coronary heart disease is a chronic inflammatory condition, the risk of which can be effectively reduced from healthy lifestyle interventions, British Journal of Sports Medicine, Volume 51, Issue 15, 2017;51:1111-1112.
[4] John W McEvoy, et al, The Relationship of Cigarette Smoking with Inflammation and Subclinical Vascular Disease: The Multi-Ethnic Study of Atherosclerosis, Arterioscler Thromb Vasc Biol. 2015 Apr; 35(4): 1002–1010.
Published online 2015 Mar 5. doi: 10.1161/ATVBAHA.114.304960
[5] Antoine Drieu, et al, Alcohol exposure–induced neurovascular inflammatory priming impacts ischemic stroke and is linked with brain perivascular macrophages, JCL Insight, Published January 28, 2020
doi:10.1172/jci.insight.129226
[6] Justine Bold, et al, Nutrition, the digestive system and immunity in COVID-19 infection,Gastroenterol Hepatol Bed Bench. 2020 Autumn; 13(4): 331–340.
[7] Hunt KJ, Walsh BM, Voegeli D, Roberts HC. Inflammation in aging part 2: implications for the health of older people and recommendations for nursing practice. Biol Res Nurs 2010;11:253-60.
[8] Messaoudi I, Warner J, Fischer M, Park B, Hill B, Mattison J, et al. Delay of T cell senescence by caloric restriction in aged long-lived nonhuman primates. Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America 2006;103:19448-53.
[9] Yang H, Youm YH, Dixit VD. Inhibition of thymic adipogenesis by caloric restriction is coupled with reduction in age-related thymic involution. J Immunol 2009;183:3040-52.
[10] Chung HY, Kim HJ, Kim KW, Choi JS, Yu BP. Molecular inflammation hypothesis of aging based on the anti-aging mechanism of calorie restriction. Microsc Res Tech 2002;59:264-72.
[11] Monica H Carlsen, et al, The total antioxidant content of more than 3100 foods, beverages, spices, herbs and supplements used worldwide, Nutrition Journal, published 22 January 2010
[12] Rasool M, Sabina EP: Antiinflammatory effect of the Indian Ayurvedic herbal formulation Triphala on adjuvant-induced arthritis in mice. Phytother Res. 2007, 21: 889-894. 10.1002/ptr.2183.
[13] Wu Z, McGoogan JM. Characteristics of and important lessons from the coronavirus disease 2019 (COVID-19) outbreak in China: summary of a report of72 314 cases from the Chinese Center for Disease Control and Prevention. JAMA2020; 323: 1239-1242.
[14] Geddes L. Why strange and debilitating coronavirus symptoms can last for months. New Sci. 2020 https://www.newscientist.com/…/mg24632881-400-why…/
[15] Who-China Joint Mission Members . World Health Organization; 2020. Report of the WHO-China joint mission on coronavirus disease 2019 (COVID-19)
[16] Sudre C.H., Murray B., Varsavsky T. medRxiv; 2020. Attributes and predictors of Long-COVID: analysis of COVID cases and their symptoms collected by the Covid Symptoms Study App.
[17] Townsend L., Dyer A.H., Jones K., Dunne J., Mooney A., Gaffney F. Persistent fatigue following SARS-CoV-2 infection is common and independent of severity of initial infection. PloS One. 2020;15(11) doi: 10.1371/journal.pone.0240784. e0240784.
[18] Carfì A., Bernabei R., Landi F. Persistent symptoms in patients after acute COVID-19. J Am Med Assoc. 2020;324(6):603–605.
[19] Arnold DT, Hamilton FW, Milne A, et al, Patient outcomes after hospitalisation with COVID-19 and implications for follow-up: results from a prospective UK cohort, thorax, Published Online First: 03 December 2020. doi: 10.1136/thoraxjnl-2020-216086.
[20] Tenforde M.W., Kim S.S., Lindsell C.J. Symptom duration and risk factors for delayed return to usual health among outpatients with COVID-19 in a multistate health care systems network—United States, March–June 2020. MMWR Morb Mortal Wkly Rep. 2020;69:993–998.
ข่าวประจำวัน“ลองโควิดซินโดรม” (Long Covid Syndrome) โรคต่อเนื่อง “หลังหายป่วย”โควิด-19 / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์