ราชภัฏโคราช ขับเคลื่อน “โคราชโมเดล” ยกระดับอาชีพเกษตรกรและสร้างทางเลือกอาชีพใหม่ รองรับผู้ว่างงาน และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ด้วยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม

 นครราชสีมา-มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โดยศูนย์นวัตกรรมแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรครบวงจรตามแนวพระราชดำริ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และภาคีเครือข่าย  จัดกิจกรรมศึกษาดูงานเพื่อติดตามความก้าวหน้าของโครงการพัฒนาอาชีพและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรฐานราก  ด้วยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ตามโครงการจังหวัดโมเดล หรือนครราชสีมาโมเดล ที่ห้องประชุม ดร.เศาวนิต  เศาณานนท์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาโดยมีคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร นำโดย ศาสตราจารย์กนก  วงษ์ตระหง่าน รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่ 1 พร้อมด้วยคณะอนุกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและประเทศ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วม

 

โดย ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวว่า การจัดกิจกรรมศึกษาดูงานระหว่างวันที่ 29 – 30 ตุลาคม 2564 ที่จังหวัดนครราชสีมา  ทั้งนี้ เพื่อติดตามการดำเนินงานของชุดโครงการ การพัฒนาเพื่อยกระดับอาชีพเกษตรกรและสร้างทางเลือกอาชีพใหม่ รองรับคนว่างงานและคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 พื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ด้วยการใช้ความรู้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (โคราชโมเดล)  เพื่อแก้ปัญหาให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิ ผักสวนครัว พืชสมุนไพร (กระชายขาว,ว่านหางจระเข้)  และมันสำปะหลัง ให้ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่อุปทานที่คิดขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ซึ่งมี ผศ.วาสนา ภานุรักษ์ เป็นหัวหน้า  ผ่านชุดโครงการวิจัย ซึ่งประกอบไปด้วยโครงการย่อย 4 โครงการ ได้แก่ 

1)การพัฒนารูปแบบเชิงธุรกิจข้าวหอมมะลิทุ่งสัมฤทธิ์เพื่อยกระดับอาชีพเกษตรกรและสร้างทางเลือกอาชีพใหม่รองรับคนว่างงานและคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 พื้นที่จังหวัดนครราชสีมา  

2)การพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถการปลูกผักและสร้างผลิตภัณฑ์จากผัก เพื่อยกระดับอาชีพเกษตรกรและสร้างทางเลือกอาชีพใหม่รองรับคนว่างงานและได้รับผลกระทบจากโควิด-19 พื้นที่จังหวัดนครราชสีมา อย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 

3)การพัฒนาเพื่อยกระดับอาชีพเกษตรกรและสร้างทางเลือกอาชีพใหม่ รองรับคนว่างงานและคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 พื้นที่จังหวัดนครราชสีมาด้วยพืชสมุนไพร(กระชายขาว ว่านหางจระเข้)

4)การพัฒนารูปแบบธุรกิจและนวัตกรรมการผลิต และบริการท่อนพันธุ์มันสำปะหลังสมรรถนะสูง  ซึ่งจะมีการบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วนเพื่อการแก้ปัญหาผลผลิต 

 

ซึ่งมีการบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วน เพื่อการแก้ปัญหาผลผลิต หนุนเสริมในเรื่องการแปรรูป การตลาด รวมถึง การสื่อสารประชาสัมพันธ์  ตั้งแต่กระบวนการต้นทาง กลางทาง และปลายทาง เพื่อให้เศรษฐกิจภาคเกษตรและภาคบริการ ให้สามารถปรับตัวรองรับวิกฤตทางเศรษฐกิจ โดยไม่ต้องพึ่งพิงความช่วยเหลือจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว และสร้างเป็นกลไกการเพื่อติดตามประมวลผล Monitoring และEvaluation อีกทั้งเป็นการพัฒนาความรู้และทักษะเพื่อปรับเปลี่ยนเป็น Knowledge worker หรือ Up Skill หรือ Re Skill พร้อมให้คนฐานรากในภาคเกษตรและภาคบริการมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสามารถสร้างทางเลือกอาชีพใหม่ ให้กับกลุ่มผู้ว่างงานและได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และเกษตรกรฐานรากในจังหวัดนครราชสีมา ให้มีความมั่นคงทางอาหาร อาชีพ และรายได้เพิ่มขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป

///////////////ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ / นครราชสีมา

ข่าวประจำวันราชภัฏโคราช ขับเคลื่อนโคราชโมเดล ยกระดับอาชีพเกษตรกรและสร้างทางเลือกอาชีพใหม่