มทส.โคราชจับมือวิสาหกิจชุมชน พัฒนาเชิงพื้นที่แปลงปลูกกัญชาและกัญชง ในโครงการ SUT CANNABIS SANDBOX

นครราชสีมา – วันนี้ (4 สิงหาคม 2565) ที่แปลงปลูกกัญชา ฟาร์มวิสาหกิจเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จังหวัดนครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา  พร้อมด้วย นายแพทย์ขวัญชัย  วิศิษฐานนท์  รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และ รศ.ดร.อนันต์  ทองระอา  อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ร่วมเปิดโครงการผลิตกัญชาเชิงคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และเชิงพาณิชย์ กิจกรรมปลูกกัญชา กัญชง เชิงคุณภาพทางการแพทย์ และการใช้ประโยชน์สร้างเศรษฐกิจ BCG พร้อมมอบต้นกล้าสายพันธุ์กัญชา (THC) และต้นกล้าสายพันธุ์กัญชง (CBD) เพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่แปลงปลูกกัญชาและกัญชงในโครงการ SUT CANNABIS SANDBOX ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการ ซึ่งถือเป็นแห่งแรกของประเทศไทย โดยมีเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนศูนย์นวัตกรรมพืชเศรษฐกิจไทย ผู้แทนจากภาคเอกชนและวิสาหกิจชุมชน ร่วมงาน

รศ.ดร.อนันต์  ทองระอา  อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เผยว่า โครงการผลิตกัญชาเชิงคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และเชิงพาณิชย์ มทส. เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563 โดยมุ่งเน้นวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านเทคโนโลยีกัญชา กัญชง พืชเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ สร้างห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ตั้งแต่การคัดเลือกและพัฒนาสายพันธุ์กัญชา กัญชง การจัดการโรงเรือน การเพาะปลูก บำรุงรักษา เก็บเกี่ยวผลผลิต การสกัดกลั่นสาร THC จากกัญชาที่ออกฤทธิ์ทางยาสูง การถ่ายทอดองค์ความรู้และให้คำปรึกษาทางวิชาการ การแปรรูปผลิตภัณฑ์สู่เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม โดยที่ผ่านมา มทส. ได้ส่งมอบผลผลิตกัญชาให้แก่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร คณะแพทย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และการพัฒนาชุมชน สังคม และเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ มทส. มีเป้าหมายดำเนินโครงการร่วมกับผู้ประกอบการและกลุ่มวิสาหกิจชุมชน โดยเปิดกว้างให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาเชิงพื้นที่ภายใต้หลักเกณฑ์ SANDBOX ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมทางสังคม ในการขับเคลื่อนวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) โดยมอบหมายให้ศูนย์บ่มเพาะด้านนวัตกรรม หรือ ศูนย์ IIC เป็นผู้ประสานในการจับคู่ระหว่างผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน และหน่วยงานภาครัฐ ส่งเสริมให้เกิดบริษัท Startup ที่ต้องการสร้างพื้นที่พัฒนาในเชิงธุรกิจ  นับเป็นแห่งแรกของประเทศไทย มีทั้งรูปแบบแปลงฟาร์มขนาดใหญ่ พื้นที่ 20 ไร่ ซึ่งอยู่ระหว่างการทดสอบระบบ และรูปแบบแปลงฟาร์มวิสาหกิจชุมชน ขนาดเล็ก ซึ่งเป็นต้นแบบนำไปพัฒนาเป็นธุรกิจผลิตพืชเศรษฐกิจใหม่ได้อย่างมีคุณภาพตามหลักเกณฑ์ GAP ภายใต้ทีมที่ปรึกษาของสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มทส. และ ศูนย์ IIC ซึ่งได้จัดตั้งบริษัท กัญราชา จำกัด มาร่วมดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาเชิงพื้นที่ร่วมกับภาคธุรกิจเอกชน ได้แก่ กลุ่มโรงพยาบาลลาดพร้าว จำกัด (มหาชน) บริษัท ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเซีย จำกัด (AMARC) บริษัท ศูนย์บริหารจัดการธุรกิจแห่งเอเชีย จำกัด (ABMC) และ 9 กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ในการใช้พื้นที่ปลูกกัญชาในรูปแบบโรงเรือน Green House ขนาดพื้นที่ 240 ตารางเมตร จำนวน 17 โรงเรือน และโรงเรือน Evaporative Cooling System ขนาดพื้นที่ 126 ตารางเมตร จำนวน 1 โรงเรือน เพื่อทำการปลูกกัญชาและกัญชง โดยเฉพาะการปลูกสายพันธุ์กัญชา “ฝอยทอง สุรนารี 1” และ สายพันธุ์กัญชง “ชาล็อต แองเจิล และ แคนนาฟลูเอล” โดย มทส. พร้อมที่จะสนับสนุนให้เกิดระบบนิเวศของห่วงโซ่การผลิตและห่วงโซ่แห่งคุณค่า สร้างความเชื่อมั่นให้กับวิสาหกิจชุมชนที่เป็นคู่สัญญากับมหาวิทยาลัย ตอบโจทย์การกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้แก่ประชาชน นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการสร้างแพลตฟอร์มในการสร้างกัญชาบนโลกเสมือนจริง หรือ Cannabis Metaverse ซึ่ง มทส. จะใช้กลไกพืชกัญชา กัญชง เป็นต้นแบบในการสร้างพื้นที่ส่งเสริมการลงทุนด้านการส่งเสริมสุขภาพและการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ พร้อมร่วมผลักดันให้จังหวัดนครราชสีมาเป็นเมืองนวัตกรรมสุขภาพ สบับสนุนโครงการส่งเสริมการปลูกกัญชา 1 ล้านต้น แก้จน ยั่งยืน จังหวัดนครราชสีมา และเขตพัฒนาพื้นที่พิเศษใหม่ หรือ KORAT WELLNESS CORRIDOOR สอดคล้องกับแผนพัฒนาชาติฉบับใหม่ที่ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Model ซึ่งกัญชาและกัญชงจะเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดนครราชสีมาให้สามารถตอบโจทย์ได้ครบทุกมิติ”.

////

ข่าวประจำวันมทส.จับมือวิสาหกิจชุมชนพัฒนาปลูกกัญชาและกัญชง