ผู้ว่าโคราช สั่งเร่งผลักดันน้ำในลำมูลด่วน รองรับน้ำใหม่จากลำตะคอง ลำเชียงไกร ลำจักราช หลังสถิติชี้น้ำท่วมโคราช มักเกิดกลางเดือน ตค. ระบุ ปีนี้มีการก่อสร้างโครงการเพียบ ส่งผลทิศทางน้ำเปลี่ยน
นครราชสีมา-วันนี้ (23 กันยายน 2565) นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึงสถานการณ์น้ำล่าสุดในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ว่า เกิดอุทกภัยน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของจังหวัด ปีนี้น้ำมีทิศทางที่เปลี่ยนไปจากหลายปีที่ผ่านมา สาเหตุน่าจะมาจากมีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ขึ้นในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างวงแหวนรอบเมืองและการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เป็นต้น ส่งผลให้ทิศทางการไหลของน้ำเปลี่ยนไป จึงต้องติดตามสถานการณ์เส้นทางน้ำอย่างใกล้ชิด และแก้ไขปัญหาในแต่ละพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม ทั้งที่ อ.ปากช่อง อ.วังน้ำเขียว อ.พระทองคำ อ.ประทาย และ อ.พิมาย ซึ่งมีปัญหาน้ำท่วมขังและน้ำป่าไหลหลาก แต่ใช้เวลาไม่นานก็เข้าสู่สภาวะปกติ และน้ำท่วมไม่มากเหมือนปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ทางจังหวัดไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้สั่งการให้ทุกพื้นที่อำเภอติดตามสถานการณ์น้ำ และการพยากรณ์อากาศ ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งหลายจุดที่เกิดน้ำหลากผ่านพื้นที่ จะเกิดน้ำท่วมขังไม่นานแล้วน้ำก็ไหลผ่านไป
อย่างเช่น ที่ อ.ปากช่อง มีฝนตกหนักในช่วงบ่ายวานนี้ ทำให้มีมวลน้ำสะสมจำนวนมากไหลทะลักเข้าท่วมถนนธนะรัชต์ เขาใหญ่ ตั้งแต่ช่วงสะพานต่างระดับเขาใหญ่ ช่วง กม.ที่1-2 ถนนธนะรัชต์ ต.น้ำแดง อ.ปากช่อง ทำให้รถขนาดเล็กและรถจักรยานยนต์ได้รับความเสียหายหลายคัน ส่วนรถยนต์สัญจรลำบาก เพราะน้ำท่วมขังสูงบนบริเวณถนนธนะรัชต์ ทั้งฝั่งขาขึ้นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และขาเข้า อ.ปากช่อง ซึ่งล่าสุด เช้าวันนี้ ที่บริเวณสะพานขาว ข้ามลำตะคอง หน้าสำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์ กรมปศุสัตว์ ถนนกองวัคซีน อำเภอปากช่อง พบว่า มีน้ำไหลมาจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ผ่านลำตะคองที่จุดนี้จำนวนมาก และปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่า ถ้าไม่มีฝนตกบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และบริเวณอำเภอปากช่อง ระดับน้ำในลำตะคองน่าจะลดลง
ซึ่งปัจจุบัน จังหวัดนครราชสีมามีพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วมทั้งสิ้น 23 อำเภอ จากทั้งหมด 32 อำเภอ โดยมี 84 ตำบล 410 หมู่บ้าน 5 ชุมชน ประชาชน 6,910 ครัวเรือนได้รับผลกระทบ และมีพืชไร่ 8,482 ไร่ นาข้าว 54,698 ไร่ พืชผัก 1,311 ไร่ บ่อปลา 79 ไร่ ถนน 29 สาย ฝาย 3 แห่ง ได้รับความเสียหาย อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ ถือว่ายังไม่อยู่ในช่วงที่ฝนตกหนักและยังไม่เกิดน้ำหลากมากนัก จากสถิติที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมใหญ่ในปี 2654 และ 2564 พบว่า พื้นที่จังหวัดนครราชสีมาจะประสบกับภัยน้ำท่วมในช่วงกลางเดือนตุลาคม ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นต้องเร่งทำ คือการเร่งระบายน้ำ รวมถึง ผลักดันน้ำจากลำตะคอง ลำเชียงไกร ลำจักราช ให้ไหลลงน้ำน้ำมูลโดยเร็ว จากนั้น ให้เร่งผลักดันน้ำในลำน้ำมูลอีกต่อหนึ่ง เพื่อให้ไหลผ่านพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาไปให้เร็วที่สุด จะได้มีพื้นที่รองรับน้ำใหม่จากฝนที่ตก ส่วนสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำทุกแห่ง ขณะนี้ มีอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำเกินความจุอยู่ 8 แห่ง ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 70 ของความจุ ฯ” นายวิเชียรฯ กล่าว.
/////////////ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ / นครราชสีมา
Recent Comments