“สุวัจน์” ผู้จุดประกายและขับเคลื่อน อุทยานธรณีโคราช จาก 30 ปีของการเดินทางไม้กลายเป็นหิน สู่ UNESCO GLOBAL GEOPARK มรดกแห่งความภาคภูมิใจของคนโคราชและคนไทยทั้งชาติ
วันที่ 8 มิถุนายน 2566 นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวในพิธีเปิดการประชุมทางวิชาการเครือข่ายอุทยานธรณีประเทศไทย ครั้งที่ 2 และมหกรรมจีโอพาร์ค และฟอสซิล 2023 ว่า
กว่าจะมาถึงวันที่โคราชได้รับการรับรองให้เป็นอุทยานธรณีโลก ใช้เวลาเกือบ 30 ปีสู่ความสำเร็จ จากไม้กลายเป็นหินที่วัดบ้านโกรกเดือนห้า ตำบลสุรนารี ที่ท่านเจ้าอาวาสเก็บรักษาไว้มากมาย ตอนนั้นผมได้มาทำบุญทอดผ้าป่าบูรณะศาลาวัด แล้วท่านได้มอบไม้กลายเป็นหินให้ผมแทนที่จะขายให้ภาคเอกชน ผมก็ได้มอบไม้กลายเป็นหินให้กับมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โดยอาจารย์ประเทือง จินตสกุล นั่นเป็นจุดเริ่มต้น
หลังจากนั้น ผมมาเป็นรัฐมนตรีอุตสาหกรรม และเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยได้รับมอบที่ดินจากกํานันตําบลสุรนารี เพื่อมาจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน โดยกรมทรัพยากรธรณีและเมืองแร่ เป็นผู้รับผิดชอบพิพิธภัณฑ์เรื่องไดโนเสาร์ ในภาคอีสานได้เห็นความสำคัญของการพบฟอสซิล จึงได้จัดสรรงบประมาณมาก่อสร้างอาคาร ที่ทำการของพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน เพื่อทำการศึกษาวิจัยและต่อยอดค้นคว้าด้านอื่นๆ โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏ ได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินให้เป็นหน่วยงานในสังกัดของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา จึงนับได้ว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏ แห่งเดี่ยวที่มีความรับผิดชอบเรื่องงานวิจัยด้านฟอสซิล โดยมีอาจารย์ประเทืองจินตสกุล เป็นผู้รับผิดชอบ
ต่อมาพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินก็ได้มีการยกฐานะขึ้นเป็นสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน เมื่อปี 2547 ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏในฐานะที่กํากับดูแลหน่วยงานนี้ ได้ต่อยอดในเรื่องของงานวิจัยจนได้พบซากดึกดำบรรพ์มากมายที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ บริเวณบ่อทรายลำน้ำมูล อาทิเช่น ซากช้างโบราณ ไดโนเสาร เต่า หมู ปลา ทำให้เห็นความอุดมสมบูรณ์ของฟอสซิลต่างๆ จึงได้ขยายการค้นคว้าวิจัยไปยัง 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง เฉลิมพระเกียรติ ขามทะเลอสอ สีคิ้ว สูงเนิน และได้มีการพัฒนาร่วมกับหน่วยงานราชการต่างๆ ในจังหวัดนครราชสีมา จนมีการจัดตั้งอุทยานธรณีโคราช และเมื่อปีที่แล้วมีการเสนอยูเนสโก เพื่อพิจารณาอุทยานธรณีโลก และจนกระทั่งวันนี้ จึงมีการประกาศรับรองอุทยานธรณีโคราชเป็นอุทยานธรณีโลก
จากผลการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การยูเนสโก ครั้งที่ 216 (216th session of the Executive Board) จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 10-24 พฤษภาคม 2566 ที่องค์การยูเนสโก สำนักงานใหญ่ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ได้มีมติรับรองให้ “โคราชจีโอพาร์ค” เป็น UNESCO Global Geopark หรือ “อุทยานธรณีโลก” ประกาศเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2566 ส่งผลจังหวัดนครราชสีมา เป็น Korat The UNESCO Triple Heritage City ( เมือง 3 มรดกโลกของยูเนสโก) ประกอบด้วย 1.มรดกโลก (World Heritage) ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ 2.พื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสะแกราช และ 3.โคราชจีโอพาร์ค (KHORAT Geopark) และถือเป็นเมืองที่ 4 ของโลก ต่อจาก เกาหลีใต้ และจีน ที่มีดินแดนแห่ง “3 มงกุฎของยูเนสโก” ในจังหวัดเดียวกัน
นอกจาก ประโยชน์ทางด้านวิชาการแล้ว ต้องพูดถึงประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจด้วย เพราะวันนี้เรากําลังมีวิกฤตเศรษฐกิจ เรากําลังเจอกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก สงครามการค้า สงครามจริงๆ สงครามเทคโนโลยี สงครามการเงิน เงินดิจิทัลต่างๆ น้ํามันแพง สิ่งต่างๆ พวกนี้กําลังเกิดความผันแปรที่ก่อให้เกิดความไม่แน่นอนในเรื่องระบบเศรษฐกิจ
ฉะนั้น ประเทศไทยต้องหาตัวตนเราให้เจอว่าวันนี้ถ้าเราจะต่อสู้กับเรื่องเศรษฐกิจ อะไรคือจุดแข็งของเรา แล้วเอาจุดแข็งตรงนั้น มาเป็นแพลตฟอร์ม ใหม่ทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งวันนี้จุดแข็งของประเทศไทย
คือ วัฒนธรรมของชาติ เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วเป็นเรื่องของการท่องเที่ยว เป็นเรื่องของ soft power และการที่เราได้มีอุทยานธรณีโลก มีพื้นที่สงวนชีวมณฑล มีพื้นที่มรดกโลกที่เขาใหญ่ เราสามารถที่จะคิดต่อยอดให้เกิดย่านการท่องเที่ยวของโลกในประเทศไทย อยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา
นายสุวัจน์ ย้ำว่าวันนี้การท่องเที่ยวเป็นเศรษฐกิจที่สําคัญ ที่ก่อให้เกิดความอยู่รอด ของเศรษฐกิจของประเทศไทย GDP ของประเทศไทยปีหนึ่ง 16 ล้านล้านบาท แต่การท่องเที่ยวอย่างเดียวสร้างเม็ดเงินประมาณ 3 ล้านล้านบาท ทั้งจากการท่องเที่ยวของคนไทยและการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 3 ล้านล้านบาท จาก 16 ล้านล้านบาท เกือบ 20% คือ ความเข้มแข็งและมีการเติบโตสูงมาก
ฉะนั้น ต่อไปประเทศไทยจะเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีหลานย่าน อาทเช่น ภาคใต้ ย่านอันดามัน ประกอบด้วย ภูเก็ต พังงาน กระบี่ ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ประกอบด้วย ชลบุรี บางแสน ศรีราชา พัทยา ระยอง จันทบุรี เกาะช้าง เป็นย่านท่องเที่ยวทางด้านภาคตะวันออก ส่วนชายฝั่งทะเลฝั่งอ่าวไทย ตั้งแต่เพชรบุรีลงไปชะอํา หัวหิน ประจวบ ชุมพร ระนอง เป็นย่านไทยแลนด์ ริเวียร่า
และต่อไปนี้ เรากำลังจะมีย่านการท่องเที่ยวแห่งใหม่ของประเทศที่ทั่วโลกต้องรู้จัก คือ “ย่านยูเนสโก” ของจงหวัดนครราชสีมาเพราะมีสามมรดกโลกอยู่ในพื้นที่ติดกันคือ 1.เขาใหญ่ ปากช่อง 2.แหล่งพื้นที่สงวนชีวมณฑล ปักธงชัย และอีก 5 อําเภอ คือ อำเภอเมือง สีคิ้ว เฉลิมพระเกียรติ ขามทะเลสอ สูงเนิน สรุปแล้ว 7 อําเภอของเมือง 3 มรดกโลกเป็นพื้นที่ติดกัน และที่จังหวัดนครราชสีมา มีโครงพื้นฐานทางด้านการคมนาคมที่เข้มแข็งแกร่ง โคราชกําลังจะมีรถไฟความเร็วสูง จากกรุงเทพ-โคราช ถ้าเสร็จใช้เวลาเดินทาง 1 ชม.15 นาทีโครงการถไฟรางคู่ กรุงเทพ-โคราช ใช้เวลาเดินทาง 2 ชั่วโมงครึ่ง โครงการมอเตอร์เวย์ จากกรุงเทพ-โคราช ใช้เวลา 1 ชั่วโมง 45 นาที ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ เมื่อผลักดันแล้วเสร็จจะนำนักลงทุน นักท่องเที่ยวมหาศาลเข้ามาจังหวัดนครราชสีมาก็จะเป็นประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยและจังหวัดนครราชสีมา
ฉะนั้น เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่เกิดอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก แล้วก็เกิดเมือง 3 มรดกโลกขึ้น ถ้าเราสามารถที่จะต่อยอดให้เกิดประโยชน์ทางด้านวิชาการ และเกิดประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจจะเป็นความคุ้มค่า จะเป็นความภาคภูมิใจ เป็นความยั่งยืน เป็นประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไปจากนี้ไปควรจะร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานราชการต่างๆ ในจังหวัดนครราชสีมา และรวมทั้งพี่น้องประชาชนชาวโคราชที่จะร่วมกันพัฒนาอุทยานธรณีโลก ให้มีความเจริญกว้างหน้าต่อไป
@jaophoto2022 สุวัจน์ 30 ปีของการเดินทางไม้กลายเป็นหิน สู่ UNESCO Global Geopark#จีโอปาร์ค#suwat ♬ เสียงต้นฉบับ - Thaweechai Jao
Recent Comments