สวนอนุสรณ์สถานท่านท้าวสุรนารี และคูเมืองทั้ง 4 ด้านความยาว 5.8 กิโลเมตร
เร่งปรับปรุงเพื่อให้เกิดความสวนงามร่มรืนเรียบร้อยปลอดภัย เป็นสวนหน้าบ้าน เป็นปอดของเมือง คือ”ห้องรับแขกของเมืองโคราช”

“หญิงไทยใจกำแหง ดาบก็แกว่งเปลก็ไกว สู้ศึกไม่หวั่นไหว เกียรติกำจาย กระเดื่องดิน” นี่คือส่วนในเนื้อเพลงสดุดีวีรกรรมท้าวสุรนารี ที่ชาวโคราชได้แสดงความกตัญญูและสดุดีวีรกรรมของท้าวสุรนารี ทุกวันที่ ๒๓ มีนาคม ของทุกปีอันเป็นวันที่จารึกในประวัติศาสตร์ชาติไทยว่า เป็นวันแห่งชัยชนะของท้าวสุรนารี ที่มีชัยชนะขับไล่กองทัพของเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ได้ ในวีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์ เมื่อปี ๒๓๖๙

ท้าวสุรนารี วีรสตรีไทย ผู้ที่ได้ขับไล่อริราชศัตรูอย่างกล้าหาญ วีรกรรมของท่านยังเป็นที่กล่าวขานมาจวบจนปัจจุบันอีกทั้งเป็นที่เคารพศรัทธายิ่งของชาวนครราชสีมา และประชาชนชาวไทย ที่ได้เดินทางมากราบสักการะที่จังหวัดนครราชสีมา จนอาจกล่าวได้ว่า ควันธูปที่บริเวณอนุสาวรีย์ของท่านมิได้มีวันจางหายไป และยังติดอยู่ตลอดเวลา เพราะในฐานะของวีรสตรีไทยผู้ที่ได้ขับไล่กองทัพทหารลาวแล้ว ท้าวสุรนารี(คุณหญิงโม) หรือที่ชาวโคราชเรียกกันอย่างติดปากว่า “ย่าโม” คุณงามความดีของท่านเป็นที่ประจักษ์อยู่ในประวัติศาสตร์ชาติไทย และได้รับพระมหากรุณายกย่องมาตั้งแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เป็นต้นมา ตราบจนปัจจุบัน

“ท้าวสุรนารี เป็นผู้ที่เสียสละเพื่อให้ประเทศชาติได้อยู่รอดปลอดภัย ควรที่อนุชนรุ่นหลัง จะได้ระลึกถึงคุณงามความดีของท่าน บ้านเมืองทุกวันนี้เป็นสิ่งที่ต้องหวงแหน การหวงแหน คือ ต้องสามัคคี รู้จักหน้าที่ ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ชาวนครราชสีมาได้แสดงพลังต้องการความเรียบร้อย ความสงบ เป็นปัจจัยสำคัญทำให้ชาติกลับปลอดภัยอีกครั้งหนึ่ง แม้ว่าสถานการณ์รอบตัวเราและรอบโลก จะผันผวนและ ล่อแหลมมาก แต่ถ้าทุกคนเข้มแข็ง สามัคคี กล้าหาญ และเอื้อเฟื้อต่อกัน ชาติก็จะมั่นคง”พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี มาทรงวางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๒๔

ท้าวสุรนารี ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อปี ๒๓๙๕ สิริอายุได้ ๘๑ ปี เจ้าพระยามหิศราธิบดี (ทองคำ) ผู้เป็นสามี ได้จัดการศพ และสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิไว้ ณ วัดศาลาลอย ซึ่งเป็นวัดที่ท้าวสุรนารีได้สร้างไว้ เมื่อเวลาผ่านไปเจดีย์ชำรุดลง พลตรีเจ้าพระยาสิงหเสนี (สอาด สิงหเสนี) ข้าหลวงเทศาภิบาลเมืองนครราชสีมา ได้บริจาคเงินสร้างกู่ขนาดเล็ก(ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มหาวีรวงศ์) บรรจุอัฐิท้าวสุรนารีขี้นใหม่ ไว้ที่วัดพระนารายณ์มหาราช(วัดกลางนคร) ต่อมากู่นั้นได้ทรุดโทรมลงมาอีก ไม่สมเกียรติ

อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี

เป็นอนุสรณ์แด่วีรกรรมอันกล้าหาญของวีรสตรีไทย หรือย่าโม ซึ่งเป็นชื่อที่เรียกกันติดปากโดยทั่วไป สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2476 ตั้งอยู่กลางเมือง

อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2477 เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของท้าวสุรนารี หรือ “ย่าโม” วีรสตรีไทยผู้อยู่ในหัวใจของชาวโคราชทุกคน และถือเป็นอนุสาวรีย์ที่ยกย่องความดีของวีรสตรีสามัญชนคนแรกของประเทศ อนุสาวรีย์นี้หล่อด้วยทองแดงรมดำสูง 185 เซนติเมตร หนัก 325 กิโลกรัม ประดิษฐานอยู่บนฐานไพที สี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองสูง 250 เซนติเมตร แต่งกายด้วยเครื่องยศพระราชทานในท่ายืนมือขวากุมดาบ ปลายดาบจรดพื้น มือซ้ายท้าวสะเอว หันหน้าไปทางด้านทิศตะวันตก ซึ่งเป็นที่ตั้งของกรุงเทพมหานคร ภายในบรรจุอัฐิของท้าวสุรนารี หรือย่าโมของชาวโคราช ท้าวสุรนารีมีนามเดิมว่า คุณหญิงโม เป็นภรรยาปลัดเมืองนครราชสีมา เมื่อ พ.ศ. 2369 เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ยกทัพเข้ายึดเมืองโคราช คุณหญิงโมได้รวบรวมชาวบ้านเข้าสู้รบและต่อต้านกองทัพเจ้าอนุวงศ์ไม่ให้ยกมาตีกรุงเทพฯ ได้เป็นผลสำเร็จ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาคุณหญิงโมเป็น “ท้าวสุรนารี” และเพราะย่าโมกลายเป็นสัญลักษณ์ของชาวโคราช จึงเป็นที่มาของอีกชื่อที่เรียกขานนครราชสีมาว่า “เมืองย่าโม” นั่นเอง ทุกปีในวันที่ 23 มีนาคม ถึงวันที่ 3 เมษายน จะมีการจัดงานวันฉลองชัยชนะของท้าวสุรนารี ณ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาร่วมงานอันยิ่งใหญ่ได้ ที่ตั้ง : ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ระหว่างถนนราชดำเนินกับถนนชุมพล อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครราชสีมา

ประตูชุมพล ประตูเมืองโบราณของโคราช

ตั้งอยู่ด้านหลังอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองนครราชสีมาเป็นเมืองหน้าด่านเมื่อ พ.ศ. 2199 อันเป็นปีที่พระองค์เสด็จขึ้นครองกรุงศรีอยุธยา

หนึ่งใน 4 ประตูเมืองโบราณของโคราชที่ยังคงหลงเหลือให้เห็นของจริงในปัจจุบัน สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองนครราชสีมาเป็นเมืองหน้าด่านเมื่อ พ.ศ. 2199 อันเป็นปีที่พระองค์เสด็จขึ้นครองกรุงศรีอยุธยาและสร้างกำแพงประตูเมืองอย่างแข็งแรง โดยมีช่างชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ออกแบบผังเมือง เมืองนครราชสีมาในขณะนั้นมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 1,000 x 1,700 เมตร เดิมมีประตูเมืองทั้งหมด 4 ประตู ได้แก่ ประตูพลแสนด้านทิศเหนือ ประตูพลล้านด้านทิศตะวันออก ประตู ไชยณรงค์ด้านทิศใต้ และประตูชุมพลด้านทิศตะวันตก ปัจจุบันเหลือเพียงประตูชุมพลเท่านั้นที่เป็นประตูเมืองเก่า ส่วนอีกสามประตูสร้างขึ้นใหม่ ลักษณะประตูชุมพลเป็นประตูเชิงเทินก่อด้วยหินก้อนใหญ่และอิฐฉาบด้วยปูน ส่วนบนเป็นหอรบ สร้างด้วยไม้แก่นหลังคามุงกระเบื้อง ประดับด้วยช่อฟ้า กระจังและนาคสะดุ้ง กำแพงต่อจากประตูทั้งสองข้างก่อด้วยอิฐ ส่วนบนสุดทำเป็นรูปใบเสมา กล่าวกันว่าถ้าใครได้ลอดประตู 1 ครั้ง จะได้กลับมาโคราชอีก ลอดประตู 2 ครั้ง จะได้ทำงานหรือมาอยู่โคราช ลอดประตู 3 ครั้ง จะได้คู่ครองเป็นคนโคราช ที่ตั้ง : ด้านหลังอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครราชสีมา

#สท.เขต1ทีมโคราชชาติพัฒนา
Cr.ภาพสท.เขต1ทีมโคราชชาติพัฒนา
ขอบคุณภาพ : คุณอุทัย มิ่งขวัญ
ท่องเที่ยวโคราชสวนอนุสรณ์สถาน “ท่านท้าวสุรนารี” และคูเมืองทั้ง 4 ด้าน เป็นสวนหน้าบ้าน เป็นปอดของเมือง คือ “ห้องรับแขกของเมืองโคราช”