โคราชใช้โรงแรมหรู เป็น State Quarantine กักตัวกลุ่มเสี่ยง ขณะที่ผู้ว่าฯ มั่นใจมาตรการล็อคดาวน์ ช่วยลดการระบาดโควิด-19 ได้
นครราชสีมา – วันนี้ (5 สิงหาคม 2564) ที่โรงแรมฟอร์จูน อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนายแพทย์นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา , นายประเสริฐ บุญชัยสุข นายกเทศมนตรีเทศบาลนครนครราชสีมา และนายแพทย์เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ดำเนินงานในสถานที่กักกันตน เทศบาลนครนครราชสีมา State Quarantine หรือ SQ ระหว่างจังหวัดนครราชสีมา เทศบาลนครนครราชสีมา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา และโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา
โดยใช้โรงแรมฟอร์จูน กักตัวกลุ่มเสี่ยงสูง ผู้เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง และผู้ที่ผ่านการรักษาตามมาตรฐานทางการแพทย์ เพื่อป้องกันยับยั้งและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 50(4) ในการป้องกัน และระงับโรคติตต่อ และประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่3) พ.ศ. 2563 ประกาศ ณ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 โดยมีการประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019หรือโควิด 19 เป็นโรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เพื่อประโยชน์ในการเผ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตราย
ซึ่งนายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า สถานที่กักกันตน State Quarantine เทศบาลนครนครราชสีมาแห่งนี้ ใช้เป็นสถานที่แยกตัวกลุ่มเสี่ยงสูง และศูนย์พักคอยผลตรวจหาเชื้อโควิด-19 สามารถรองรับกลุ่มเสี่ยงที่ต้องกักตัวตามหลักเกณฑ์ ได้ 120 เตียง มีการวางมาตรการตามหลักสาธารณสุขอย่างเข้มข้น ซึ่งผู้ที่เข้าพักจะเป็นผู้ที่ไม่ได้ติดเชื้อโควิด -19 แต่จำเป็นต้องกักตัว 14 วัน และหากผลตรวจออกมาพบเชื้อจะรีบส่งรักษาโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาทันที ถือว่าเป็นความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับภาคเอกชน ในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
ส่วนมาตรการล็อคดาวน์ในจังหวัดนครราชสีมา ที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมานั้น ถือเป็นมาตรการที่จะเพิ่มพื้นที่ควบคุมการแพร่ระบาดของโรค และควบคุมการเดินทางโดยไม่จำเป็นของประชาชน โดยส่วนตัวมั่นใจว่า มาตรการที่ออกมาสำหรับในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาได้ผล เพราะจะลดกิจกรรมที่ใกล้ชิดกันสัมผัสกันของกลุ่มคนทั่วไป หรือแม้กระทั่งคนใครอบครัวเอง ถ้าดูจากจำนวนผู้ป่วยรายวันจะพบว่า ถึงแม้จำนวนตัวเลขจะเพิ่มสูงขึ้น แต่หากดูในรายละเอียดจำนวนผู้ป่วย จะพบว่า ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยที่เดินทางมาจากกลุ่มเสี่ยง และผู้ป่วยที่ขอกลับมารับการรักษาที่จังหวัดนครราชสีมา กับกลุ่มผู้ป่วยที่สัมผัสผู้ป่วยจากพื้นที่เสี่ยง ส่วนผู้ป่วยที่ติดเชื้อจากการระบาดในพื้นที่มีจำนวนคงที่ อย่างไรก็ตาม จำเป็นจะต้องเร่งควบคุมการระบาดในคลัสเตอร์ต่างๆให้ได้ โดยเฉพาะคลัสเตอร์ในโรงงานหรือสถานประกอบการ ซึ่งที่ขณะนี้มีอยู่หลายคลัสเตอร์ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ แต่ทีมสาธารณสุขของจังหวัดได้ทำงานกันอย่างเต็มที่ เพื่อควบคุมการระบาดให้ได้โดยเร็ว นายกอบชัยฯ กล่าว.
//////////////ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ / นครราชสีมา
Recent Comments