นายประเสริฐ บุญชัยสุข นายกเทศมนตรีนคร นครราชสีมา ร่วมอนุรักษ์ วัดบูรพ์

วันที่ 4 สิงหาคม 2564 นายประเสริฐ บุญชัยสุข นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา เยี่ยมชม ภาพเขียนสีโบราณ บนแผ่นสังกะสี และ หนังสือสมุดไท พร้อมภาพวาดโบราณ ซึ่งทางเทศบาลนครนครราชสีมา พร้อมจะส่งเสริม และสนับสนุนให้การอนุรักษ์ เป็นศิลปะ คู่บ้านคู่เมืองโคราช
………………….

วัดบูรพ์ อำเภอเมือง โคราชในอดีต เมื่อปี พ.ศ.2512
ประวัติความเป็นมา
วัดบูรพ์โคราช นับเป็นวัดที่มีอายุเก่าแก่ ที่สร้างขึ้นมาพร้อมๆกับเมืองโคราช ภายในวัดมีโบราณวัตถุและโบราณสถาน ที่มีอายุมากกว่า 300 ปี เป็นวัดหลวงเก่าแก่ในเขตกำแพงเมืองทางด้านทิศตะวันออก หรือ ทิศบูรพา จึงชื่่อว่า วัดบูรพ์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อปี พ.ศ.2224 พร้อมกับการสร้างเมืองนครราชสีมา สร้างขึ้นโดย ประชาชน พ่อค้า คหบดีที่ร่วมมือร่วมใจกัน ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2454
โบราณสถานและโบราณวัตถุ
กุฏิน้อย หรือเรือนไทยโคราช เป็นสถาปัตยกรรมที่มีความสมบูรณ์ ในเรือนครัว เมื่อก่อนเคยเป็นกุฎิแฝด แล้วได้ทำการย้ายกุฎิอีกหลังหนี่งไปไว้ด้านหลัง เนื่องจากเกิดการผุพังและบังลวดลายของบ้านอีกหลังหนึ่ง ซึ่งมีความสมบูรณ์มากกว่า และด้านล่างยังมีเตาเชิงกราน ซึ่งหาดูที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว
เสมาคู่ มีข้อสันนิษฐานถึงนัยยะที่ซ่อนอยู่ก็คือ มีการผูกพัทธสีมาที่ต่างวาระ ต่างนิกายในที่เดียวกัน ฝ่ายที่มาทีหลัง เมื่อต้องการใช้พื้นที่ในเขตสังฆกรรมแห่งนั้น ไม่มีความเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ในเขตสีมาอันก่อน จึงได้ทำการสวดผูกพัทธสีมาขึ้นมาใหม่อีกครั้ง หรืออีกความหมายหนึ่งก็คือ วัดในสมัยโบราณนั้นมีด้วยกัน 2 ฝ่ายคือฝ่ายอรัญวาสี(พระสงฆ์)และฝ่ายคามวาสี เสมาคู่มีอยู่รอบอุโบสถทั้งหมด 8 คู่ โดยเมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้น (วัดหลวง) เพื่อไม่ให้ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ ก็จะอาราธนาพระสงฆ์ทั้ง 2 ฝ่าย ให้มาร่วมผูกพัทธสีมาพร้อมๆ กัน วัดหลวงจึงมักเห็นมีสีมา 2 ใบแต่นั้นมา
จิตรกรรมบนแผ่นสังกะสี ติดที่ศาลาการเปรียญ เป็นจิตกรรมบนสังกะสี โดยช่างเขียนได้เขียนงานลงบนแผ่นสังกะสีหลายแผ่นแล้วนำมาปะติดต่อกันจนเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ พระมาลัย พระอดีตพุทธเจ้า สวรรค์ นรก พญากาเผือก และภาพวิถีชีวิตของชาวบ้าน
สมุดไทยวัดบูรพ์ หรือ สมุดข่อยโบราณ ที่ยังคงมีสภาพสมบูรณ์ จำนวน 14 เล่ม และมี 3 เล่ม ที่มีภาพเขียน ประกอบเรื่องราว ทศชาติชาดก ลักษณะภาพมีความสวยงาม วิจิตร ได้สัดส่วน ปัจจุบันได้ทำการจัดแสดงอยู่ภายในพระอุโบสถ คาดว่าจะเป็นผลงานของช่างฝีมือหลวง เป็นโบราณวัตถุที่ได้รับขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ เพราะมีคุณค่าทางศิลปะ
นอกจากสิ่งที่น่าสนใจต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว วัดบูรพ์ยังมีอีกหนึ่งความหน้าสนใจ คือ อุโบสถทรงสำเภา สถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีการปฎิสังขรณ์จนส่วนฐานลักษณะแอ่นท้องเรือสำเภาได้หายไป คันทวยหรือไม้ค้ำยันเปลี่ยนจากไม้เป็นปูนหล่อขนาดเล็กและสั้น ฝีมือค่อนข้างหยาบ ของเดิมที่เป็นไม้มีลักษณะเป็นนาคแกะสลักลาย แต่สภาพโดยรวมของอุโบสถยังคงสภาพเดิมไว้เป็นอย่างดี อุโบสถเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมสร้างด้วยอิฐถือปูนขนาด 6 ห้อง ด้านหลังมี เจดีย์พระสัมพุทธเจดีย์ศรีบุรพสถิตย์สีทอง ซึ่งภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ให้สักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล และยังมีกำแพงแก้วและฐานไพทีสูงถึง 1.50 เมตร สร้างความโดดเด่นจึงทำให้อุโบสถดูเด่นเป็นสง่า
ท่องเที่ยวโคราชนายกประเสริฐ ร่วมอนุรักษ์ วัดบูรพ์ อำเภอเมือง สร้างสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช.