นายอุทัย มิ่งขวัญ ประธานสภาเทศบาลนครนครราชสีมา พร้อมด้วยสมาชิกสภาเทศบาลนครนครราชสีมา เขต 1 ลงพื้นที่มาพบกับหมอเพลงโคราช เพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อน เรียกร้องเทศบาลโคราช ให้เลิกเก็บค่าเช่าศาลาไทยข้างลานย่าโม เดือนละ 3 หมื่นบาท หลังเจอพิษโควิดนักท่องเที่ยวหาย ไร้คนจ้างแก้บน
นครราชสีมา – วันนี้ (19 กรกฎาคม 2564) ที่ศาลาทรงไทยเพลงโคราช ข้างลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายบุญสม สังข์สุข นายกสมาคมเพลงโคราช ได้เดินทางมาเยี่ยมบรรดาหมอเพลงโคราช ซึ่งอยู่ประจำศาลาทรงไทยแห่งนี้ ภายหลังจากที่เกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ถึงระลอกที่ 4 ทำให้นักท่องเที่ยวหายหมด กระทบถึงหมอเพลงโคราช ที่ไม่มีนักท่องเที่ยวมาแก้บนเหมือนในอดีต ขาดรายได้ ต้องนั่งว่างงานรอคอยความช่วยเหลือ จากผู้ใจบุญ ที่นำข้าวกล่องมาแจก
นางดอกไม้ ชินานุปกรณ์ อายุ 68 ปี หนึ่งในหมอเพลงโคราชที่ได้รับผลกระทบครั้งนี้ กล่าวว่า ตนเองนั้นติดตามยายมาร้องเพลงโคราช ที่ลานย่าโมแห่งนี้ตั้งแต่อายุ 9 ขวบ ซึ่งในอดีตไม่ได้ยึดเป็นอาชีพ แต่เป็นการร้องเพลงให้ย่าโมด้วยความศรัทธา และต้องการอนุรักษ์เพลงโคราช ต่อมาปี พ.ศ.2510 ทางเทศบาลนครนครราชสีมา จึงได้มีการจัดสถานที่ลานว่างๆ ให้เป็นจุดรวมกลุ่มของหมอเพลงโคราช เพื่อให้คนมาจ้างแก้บนให้ย่าโม เป็นกิจจะลักษณะ อีกทั้งยังเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมโคราชให้คนรุ่นหลังได้ภาคภูมิใจด้วย ตั้งแต่นั้นมาตนเองก็ยึดอาชีพเป็นหมอเพลงโคราชเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ แต่เมื่อเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็ทำให้นักท่องเที่ยวลดลงเป็นอย่างมาก ไม่มีคนจ้างร้องเพลงแก้บนเหมือนเดิม บางวันมีมาแค่ 4-5 ราย แบ่งเงินกันแล้วไม่พออยู่ได้ ตอนนี้ทุกคนเดือดร้อนเป็นอย่างมาก
นายบุญสมสังข์สุข นายกสมาคมเพลงโคราช เปิดเผยว่า ในช่วงที่ยังไม่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ศาลาทรงไทยแห่งนี้ จะมีนักท่องเที่ยวแวะมาจ้างหมอเพลงให้ร้องเพลงโคราช แก้บนท้าวสุรนารี หรือย่าโม กันเป็นจำนวนมาก ซึ่งที่นี่จะมีหมอเพลงอยู่ 2 คณะ มีสมาชิกรวมกันเกือบ 200 คน โดยจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาอยู่ประจำศาลาทรงไทย 3 หลังนี้ เพื่อคอยให้บริการแก้บนกับนักท่องเที่ยว ซึ่งแต่ละวันจะมีคนจ้างร้องเพลงแก้บนไม่ต่ำกว่า 40 รอบ หมอเพลงก็จะนำเงินมาแบ่งกันเป็นรายได้หลัก โดยหมอเพลงทุกคนอยู่ในสมาคมเพลงโคราช ซึ่งจะช่วยกันอนุรักษ์วัฒนธรรมเพลงโคราช ให้เป็นมรดกอยู่คู่เมืองโคราชตลอดไป แต่ภายหลังจากที่เกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ขึ้น ก็ทำให้นักท่องเที่ยวลดลงอย่างต่อเนื่อง กระทบถึงหมอเพลงโคราช ที่ไม่มีคนมาจ้างให้ร้องแก้บนเหมือนในอดีต บางวันหมอเพลงแบ่งเงินกันได้เพียงคนละ 100 บาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ต้องรอคนใจบุญนำข้าวกล่องมาแจก เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย หมอเพลงหลายคนที่พอมีไร่ มีนา ก็กลับบ้านไปทำไร่ทำนาช่วยครอบครัว ดีกว่าอยู่ที่นี่ด้วยความยากลำบาก ขณะเดียวกันศาลาทรงไทย 3 หลังนี้ ก็ยังต้องจ่ายค่าเช้าให้กับเทศบาลนครนครราชสีมา เดือนละ 30,000 บาท โดยทำสัญญาต่ออายุครั้งละ 3 ปี ซึ่งหมอเพลงทุกคนต้องแบ่งเงินมาช่วยกันจ่าย ทำให้ลำบากขึ้นไปอีก ดังนั้นเมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ตนเองจึงได้ทำหนังสือไปถึงนายประเสริฐ บุญชัยสุข นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา เพื่อขอให้ท่านช่วยยกเลิกค่าเช่าศาลาทรงไทยให้ด้วย เพราะช่วงการระบาดระลอกแรก เมื่อปี 2563 ทางเทศบาลนครนครราชสีมา ก็เคยยกเลิกเก็บค่าเช่าให้ถึง 4 เดือน ดังนั้นการระบาดครั้งนี้ หนักกว่าครั้งก่อนมาก จึงขอความเมตตาเทศบาลนครนครราชสีมา ช่วยเหลือยกเลิกค่าเช่าให้ด้วย
ต่อมาวันนี้ (19 กรกฎาคม 2564) เวลา 12.00 น. นายอุทัย มิ่งขวัญ ประธานสภาเทศบาลนครนครราชสีมา พร้อมด้วยสมาชิกสภาเทศบาลนครนครราชสีมา เขต 1 อีก 5 คน ได้แก่ นายตะวัน ชาญนุกูล, น.ส.มสารัศม์ อื้อศรีวงศ์, นางวชิราภรณ์ รัตนพงษ์วนิช, นายณัฏฐ์ชยกร สุวัฒนพงศ์เชฏ และนายมติ อังศุพันธุ์ ได้ลงพื้นที่มาพบกับหมอเพลงโคราช เพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อน โดยนายอุทัยฯ กล่าวว่า วันนี้ตนเองและคณะสมาชิกสภาเทศบาลฯ เขต 1 ได้ลงพื้นที่มารับฟังปัญหา และทราบว่าทุกคนได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวมาว่าจ้างร้องเพลงโคราชแก้บนเหมือนในอดีต ซึ่งนายประเสริฐ บุญชัยสุข นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา ก็มีนโยบายที่จะส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมโคราชอยู่แล้ว ดังนั้นตนเองจะได้นำเรื่องไปแจ้งให้นายกเทศมนตรีฯ รับทราบ เพื่อหาทางช่วยเหลือเยียวยาต่อไป โดยเฉพาะเรื่องเรียกร้องให้เลิกเก็บค่าเช่าศาลาทรงไทย ซึ่งการระบาดครั้งที่ผ่านมา ก็เคยยกเลิกให้แล้ว 4 เดือน ดังนั้นครั้งนี้ก็คงจะไม่มีปัญหาอะไร นอกจากนี้หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ก็จะเสนอให้ขยายเวลาเลิกเก็บค่าเช่าออกไปอีกด้วย นายอุทัยฯ กล่าว.
Recent Comments