การบริหารจัดการวัคซีนของประเทศไทย

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุม ครม. ย้ำ การฉีดวัคซีนซึ่งถือเป็นวาระแห่งชาติ โดยได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมจุดฉีดวัคซีน ณ สถานีกลางบางซื่อ ที่เป็นจุดฉีดวัคซีนที่ใหญ่ที่สุด ในประเทศ รองรับการฉีดวัคซีนประมาณหมื่นคนต่อวัน และจุดฉีดวัคซีนสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 ณ อาคารกีฬาเวสน์ ดินแดง โดยวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมาถือเป็น “วันคิกออฟ” ระดมฉีดวัคซีน ทั่วประเทศ ยอดรวมเฉพาะการฉีดวัคซีนมากกว่า 4 แสนโดส และ มียอดสะสมผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนทั้งหมดมากกว่า 4.6 ล้านโดส โดยแบ่งเป็นผู้ได้ฉีดเข็มแรกแล้ว 3.2 ล้านคน และผู้ฉีดครบสองเข็ม 1.4 ล้านคน
นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. ย้ำถึงหลักการกระจายวัคซีนเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและมีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคมากที่สุด ได้แก่ ทุกจังหวัดจะต้องได้รับวัคซีนเพื่อให้เริ่มต้นการฉีดได้พร้อมกัน จำนวนวัคซีนที่แต่ละจังหวัดจะได้รับการจัดสรร ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสำคัญ คือ จำนวนประชากร อายุ จำนวน ผู้ติดเชื้อ กลุ่มเสี่ยง อาชีพ และการเป็นพื้นที่เฉพาะ เช่น พื้นที่ท่องเที่ยว พื้นที่เศรษฐกิจ โดยแต่ละจังหวัดที่ได้รับวัคซีนจะเป็น ผู้กำหนดการจัดสรรวัคซีนให้แก่โรงพยาบาลต่าง ๆ ในจังหวัดเอง และ ประชาชนที่จองคิวแล้วจะต้องได้รับวัคซีน โดยยึดวันที่จองไว้เดิมให้ได้มากที่สุด โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังขออภัยหากมีพี่น้องประชาชนที่ไม่ได้รับความสะดวก หรือเกิดการเปลี่ยนแปลง พร้อมสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาและเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบให้เร็วที่สุด
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรียืนยันว่าจะมีการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องให้ได้มากที่สุด โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมาย การจัดหาวัคซีน 100 ล้านโดสและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันได้มี การทำสัญญากับ AstraZeneca ที่ผลิตโดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์แล้ว 61 ล้านโดส Sinovac 6 ล้านโดส และมีแผนจะจัดซื้อเพิ่มอีก 8 ล้านโดส และคาดว่าจะสามารถทำสัญญากับ Pfizer และ Johnson & Johnson รวมกว่า 25 ล้านโดส นอกจากนี้ ยังจะมีวัคซีนอีกจำนวนหนึ่งที่ได้รับมาจากการเจรจาทางความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ ซึ่งในปีหน้าคาดว่าจะมีวัคซีนที่ผลิตโดยคนไทย ควบคู่ไปกับการใช้แพทย์แผนไทย ด้วยการนำสมุนไพรต่าง ๆ พัฒนาไปสู่กระบวนการผลิตเพื่อสร้างรายได้ ปรับเปลี่ยนวิธีการเพาะปลูกพืชให้แก่เกษตรกรอีกด้วย
ขณะที่ ราชกิจจานุเบกษา ประกาศศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด- 19) เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด – 19 ระบุให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดหาวัคซีนป้องกัน โรคโควิด- 19 มาให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่
โดยให้จัดหาจากหน่วยงานต่าง ๆ ดังนี้ ได้แก่ กรมควบคุมโรค องค์การเภสัชกรรม สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สภากาชาดไทย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือหน่วยงานของรัฐ ที่มีหน้าที่และอำนาจ ในการให้บริการทางการแพทย์หรือสาธารณสุขแก่ประชาชน ร่วมมือกันในการดำเนินการจัดหา สั่ง หรือนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเร่งด่วน เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพและ มีประสิทธิภาพอย่างรวดเร็วและทั่วถึง
ภายใต้กฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง หรือตามหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานนั้น ๆ กำหนด และต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหลักเกณฑ์หรือแผนการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและต้องสอดคล้องกับแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด- 19 ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด- 19 หรือนายกรัฐมนตรีกำหนด
ทั้งนี้ การดำเนินการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในแต่ละพื้นที่ ให้เป็นไปตามแนวทางหรืออยู่ในการกำกับดูแล ของผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เพื่อมิให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการจัดหาวัคซีนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีศักยภาพด้านงบประมาณและรายได้ที่แตกต่างกัน และเพื่อให้การกระจายวัคซีนให้มีความเป็นธรรมมากที่สุดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนและให้ความสำคัญในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในพื้นที่ในการเข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรค โควิด- 19 เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนส่วนรวมของประเทศ โดยให้ มีผลตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๔ เป็นต้นไป
ข่าวประจำวันนายก ย้ำการฉีดวัคซีนถือเป็นวาระแห่งชาติ