น้องน้ำค้างเป็นเจ้าหญิงนิทรา หลังฉีดวัคซีนต้านโควิด19 สสจ.โคราช ระบุ กรมควบคุมโรคตรวจสอบแล้ว ยันเกิดจากภาวะผิดปกติของหลอดเลือดในสมอง ไม่ได้เกิดจากวัคซีน ต้องรักษาอาการวันต่อวัน
นครราชสีมา-ความคืบหน้ากรณีนางสาวทิศกร หรือ น้องน้ำคาง พันธ์สำโรง อายุ 29 ปี บ้านเลขที่ 85 บ้านใหม่โพธิ์งาม หมู่2ตำบลดอน อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา เข้ารับการฉีดวัคซีนต้านโควิด19 เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์โคราช และภายหลังฉีดไป 2 วัน พบอาการผิดปกติ ต้องนำส่งรักษาต่อที่ รพ.มหาราชนครราชสีมา ซึ่งผลเอ็กซเรย์พบมีเลือดออกในโพรงสมองและมีความผิดปกติในเส้นเลือดสมอง บริเวณรอยต่อระหว่างเส้นเลือดแดงกับเส้นเลือดดำ ขณะนี้อาการยังโคม่า เป็นเจ้าหญิงนิทรา ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ซึ่งทางญาติยังติดใจเชื่อว่าเป็นผลมาจากการฉีดวัคซีน และเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือ เพื่อให้น้องน้ำค้างกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติอีกครั้ง เนื่องจากเป็นเสาหลักของครอบครัวและยังมีภาระต้องดูแลลูกกับตายาย ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุด วันนี้ (3 มิถุนายน 2564) นพ.นิรนทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า เคสของน้องน้ำค้าง ทางกรมควบคุมโรคได้เข้ามาตรวจสอบแล้ว ซึ่งพบว่า ไม่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน เพราะจากผลการ CT Scan สมอง และตรวจ MRI น้องน้ำค้างมีภาวะผิดปกติของหลอดเลือดในสมอง ซึ่งในกลุ่มคนอายุน้อย ๆ อาจจะเป็นลักษณะของความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด ซึ่งผลการตรวจ MRI , CT Scan และซักฐานประวัติเดิม น้องจะอยู่ในกลุ่มโรคหลอดเลือดสมองเอวีเอ็ม Intracranial Arterio venous Malformation (AVM) คือภาวะที่มีความผิดปกติของเส้นเลือดในสมองคือระบบเส้นเลือดแดง กลายเป็นรอยโรค ที่เป็นกลุ่มเส้นเลือดผิดปกติไปเชื่อมต่อไปโดยตรงกับระบบเลือดดำ โดยไม่ผ่านระบบหลอดเลือดฝอยทำให้เลือดบริเวณนั้น มีการไหลที่รุนแรงและมีความต้านทานต่ำ จึงมีโอกาสเกิดการปริแตกและมีเลือดออกบริเวณนั้นได้ง่าย ซึ่งจะนำไปสู่ความพิการหรือเสียชีวิตได้ โดยปกติเป็นโรคที่เป็นมาตั้งแต่เกิด โดยอาจพบความเกี่ยวข้องกับโรคที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมอื่น
ส่วนแนวทางการรักษา ทีมแพทย์ต้องดูอาการวันต่อวัน ซึ่งได้ทำการผ่าตัดเอาก้อนเลือดออก และให้ยาลดอาการสมองบวม เหมือนกับโรคหลอดเลือดสมองทั่วไป แต่เคสนี้เป็นภาวะผิดปกติของหลอดเลือดในสมอง จึงทำให้มีเลือดออกมากกว่า และตำแหน่งที่เกิดใกล้กับโพรงสมอง ซึ่งกรมควบคุมโรคสรุปว่าอาการที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนต้านโควิด 19 อย่างแน่นอน สำหรับการเยียวยาช่วยเหลือต้องอาศัยแนวทางการช่วยเหลือของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ตามมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เป็นการคุ้มครองการรักษากรณีเกิดเหตุสุดวิสัยทางการแพทย์ขึ้น ซึ่งไม่ได้มีสาเหตุมาจากการฉีดวัคซีน ซึ่งการคุ้มครองตามมาตรานี้จะนำมาช่วยดูแลและช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาลและบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการในเบื้องต้น เพื่อช่วยบรรเทาความเดือนร้อนจากความเสียหายที่เกิดขึ้น และยังช่วยลดความขัดแย้งในระบบสาธารณสุขได้ด้วย นพ.นิรนทร์รัชต์ฯ กล่าว.
//////////////////ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ / นครราชสีมา
Recent Comments